ถาม : ขณะนี้มีกฎระเบียบที่แตกต่างกันเกี่ยวกับจุดยืนของอิสลามในเรื่อง“การุญฆาต” ซึ่งผมสับสนเหลือเกิน จึงอยากจะให้ท่านได้ชี้แจงรายละเอียดของคำวินิจฉัย(ฟะตาวา)เกี่ยวกับวิธีการต่างๆของการทำการุญฆาตและกฎของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ทราบด้วย
ตอบ : โดยภาษาแล้ว คำว่า “การุญฆาต” หมายถึง “การตายหรือการฆ่าโดยปรานี” ในทางวิชาการ มันหมายถึง “การยอมให้คนไข้ที่ไม่อาจรักษาได้แล้วตายโดยสะดวกตามการขอร้องของคนไข้ต่อแพทย์ผู้ดูแลรักษาตัวคนไข้เอง”
ความจริงแล้ว การทำให้ตายโดยสะดวกโดยการถอนเครื่องมือช่วยชีวิตออกจากคนไข้ที่ทางการแพทย์ถือว่า “ตาย” เนื่องจากสมองถูกทำลายเป็นการกระทำที่ได้รับอนุญาตถ้าหากบทบาทของการรักษาคนไข้ถูกจำกัดอยู่ที่การหยุดใช้เครื่องมือรักษาเท่านั้น ความจริงแล้ว การ “การุญฆาต” มีวิธีการต่างๆหลายวิธีและแต่ละวิธีก็มีข้อกำหนดและกฎระเบียบในรายละเอียดของมัน
เพื่อที่จะทราบเกี่ยวกับเรื่อง “การุญฆาต” ในรายละเอียดและกฎของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราจะขออ้างถึงคำวินิจฉัย (ฟะตาวา) ที่ออกโดย “สภาเพื่อการวินิจฉัยและศึกษาวิจัยแห่งยุโรป”ดังนี้
สภาได้ตรวจสอบการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการุญฆาตซึ่งได้ถูกนำเสนอมาแล้ว และหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกันก็ได้ข้อสรุปดังนี้
ประการแรก : คำจำกัดความของคำว่า “การุญฆาต” (Euthanasia)
คำว่า Euthanasia เดิมทีเป็นคำจากภาษากรีกและประกอบด้วยคำนำหน้า คือ eu ซึ่งหมายถึง “ดี สวยงาม เมตตา หรือได้รับความสะดวก” และคำว่า tathanos ซึ่งหมายถึงความตายหรือการฆ่า ดังนั้น คำว่า Euthanasia โดยภาษาแล้วจึงหมายถึง “การตายหรือการฆ่าอย่างเมตตา” หรือ “ตายอย่างดีหรือตายอย่างสะดวก”
ในศัพท์วิชาการของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คำว่า euthanasia หมายถึงการทำให้คนไข้ที่ไม่อาจรักษาได้ตายอย่างสะดวกโดยร้องขอของคนไข้ต่อแพทย์ผู้ทำการรักษาตนเอง
ประการที่สอง : ประเภทต่างๆของการุญฆาต
การุญฆาตมีวิธีการต่างๆดังนี้
1) การุญฆาตโดยตรงหรือโดยตั้งใจ
การุญฆาตประเภทนี้ทำโดยการให้ยาพิษด้วยเจตนาให้ตายซึ่งมีสามกรณีด้วยกัน คือ
- กรณีสมัครใจซึ่งทำโดยการร้องขอของคนไข้ที่ต้องการจะตายในขณะที่ยังมีสติหรือตามความต้องการที่ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร
- กรณีไม่สมัครใจซึ่งเป็นกรณีของคนไข้ผู้ใหญ่ที่จิตใจเป็นปกติแต่ไม่รู้สึกตัว การที่จะยุติชีวิตของคนไข้ประเภทนี้กระทำโดยการตัดสินใจของแพทย์ผู้คิดว่าการให้คนไข้ตายเป็นการดีสำหรับคนไข้เองหรือตามการตัดสินใจของผู้ปกครองหรือญาติของคนไข้ที่คิดว่าการทำการุญฆาตแก่คนไข้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้เอง
- กรณีไม่สมัครใจซึ่งคนไข้ไม่สามารถใช้เหตุผลได้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือคนบ้า การทำการุญฆาตในกรณีจะต้องเป็นไปตามการตัดสินใจที่ทำโดยแพทย์ผู้รักษา
2) การฆ่าตัวตายโดยได้รับการช่วยเหลือ
ในกรณีนี้ คนไข้จะจบชีวิตของตนด้วยตัวเองตามคำสั่งที่ให้แก่เขาโดยอีกคนหนึ่งที่จัดหาข้อมูลความรู้และวิธีการที่จะช่วยให้เขาตาย
3) การุญฆาตทางอ้อม
การุญฆาตวิธีนี้ทำโดยการให้ยานอนหลับหรือยาระงับความรู้สึกเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ในเวลาเดียวกัน แพทย์ก็จะตองเพิ่มยาระงับความเจ็บปวดเพิ่มขึ้นไปด้วย นี่เป็นวิธีการที่แพทย์อายุระศาสตร์ชอบ แต่การให้ยาจำนวนมากอาจนำไปสู่การหายใจลำบากและกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานซึ่งจะส่งผลให้เสียชีวิตและไม่มีหวังที่ความรู้สึกตัวจะกลับมาใหม่ได้อีก
4) การุญฆาตอย่างช้าๆ
วิธีการนี้กระทำโดยการไม่ยอมรักษาคนไข้หรือเข้าไปให้การรักษาที่จำเป็นเพื่อให้คนไข้อยู่รอดซึ่งรวมถึงการถอดเครื่องมือช่วยหายใจออกจากคนไข้เมื่อแน่ใจว่าสมองของคนไข้ตายแล้วและไม่มีทางที่จะทำให้คนไข้คืนสติขึ้นมาอีก
ประการที่สาม : การุญฆาตในแง่ของกฎหมาย
ถึงแม้ว่าจารีตประเพณีทางการแพทย์โดยทั่วไปในประเทศต่างๆของโลกและแพทย์ส่วนใหญ่ยังคงปฏิเสธและรังเกียจที่จะกระทำการุญฆาต และถึงแม้ว่ากฎหมายที่มีผลใช้ได้ในประเทศส่วนใหญ่ของโลกจะถือว่าการฆ่ามนุษย์ถึงอย่างไรก็เป็นอาชญากรรมที่จะต้องถูกลงโทษโดยกฎหมาย แต่การทำการุญฆาตก็เป็นที่ปฏิบัติกันมากขึ้นในประเทศยุโรปหลายประเทศภายใต้ชื่อต่างๆที่ทำให้เจ้าหน้าที่มองข้ามหรือทำให้ศาลปฏิเสธที่จะดำเนินการลงโทษทาทางกฎหมายต่อผู้ที่กระทำการุญฆาต เหตุการณ์เหล่านี้แทบจะกลายเป็นการปฏิบัติประจำวันในหลายประเทศ เช่น ฮอลแลนด์ จนเจ้าหน้าที่ชาวดัทช์ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องกฎหมายไปแล้ว
ประการที่สี่ : เหตุผลสนับสนุนการทำการุญฆาต
ดูเหมือนว่าผู้กระทำการุญฆาตมีเหตุผลสำหรับการกระทำของตนบางอย่าง เช่น
- ปรัชญาไร้ศาสนาที่แพร่หลายในตะวันตกซึ่งวัดคุณค่าของชีวิตโดยใช้การมีส่วนร่วมในการผลิตของคนและการสร้างสรรค์ต่อสังคม นั่นคือ ถ้าหากใครต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น มันก็ดูเหมือนว่าเป็นการดีกว่าที่คนผู้นั้นจะตายไป
- การุญฆาตเป็นการบรรเทาและช่วยให้คนไข้พ้นจากความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดที่เขาไม่อาจรักษาได้
- การุญฆาตจะช่วยลดความทุกข์ยากเดือดร้อนของญาติมิตรคนไข้ที่ดูแลรักษา และจะช่วยแบ่งเบาต้นทุนและภาระทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวหรือสังคมต้องแบกรับ นอกจากนี้แล้ว ผู้สนับสนุนการทำการุญฆาตยังเห็นว่าคนไข้มีสิทธิส่วนบุคคลที่จะตัดสินชะตากรรมของตนเองและมีสิทธิ์ที่จะตายถ้าหากตัวเองต้องการ
เมื่อพิจารณาจุดยืนทางกฎหมายต่างๆที่ประเทศตะวันตกนำมาใช้เกี่ยวกับการทำการุญฆาตทั้งในด้านที่ยอมรับและคัดค้านแล้ว สภาได้ตัดสินดังนี้
1) ห้ามทำการุญฆาตโดยตรงและห้ามฆ่าตัวตายและห้ามช่วยให้เกิดการฆ่าตัวตาย เพราะตามหลักชะรีอ๊ะฮฺ การฆ่าคนไข้ที่ทุกข์ทรมานจากการป่วยที่รอวันตายนั้นไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับแพทย์ ครอบครัวคนไข้หรือแม้แต่คนไข้เอง ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรและป่วยไข้อย่างไรก็ตาม คนไข้ก็จะต้องไม่ถูกฆ่าเพราะความท้อแท้และสิ้นหวังว่าจะหายหรือเพื่อป้องกันการแพร่โรคของคนไข้ไปยังคนผู้อื่น และใครก็ตามที่ทำการฆ่าจะตกเป็นผู้ฆ่าโดยเจตนา คัมภีร์กุรอานยืนยันโดยไม่มีร่องรอยของความสงสัยใดๆว่าการฆ่าเป็นสิ่งต้องห้ามโดยสิ้นเชิง ดังที่อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวไว้ว่า : จงอย่าฆ่าชีวิตใดซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงห้ามไว้ เว้นแต่เพื่อความยุติธรรม (กุรอาน 6:151) และพระองค์ยังทรงกล่าวไว้อีกว่า : นั่นคือสิ่งที่ว่าทำไมเราถึงได้กำหนดแก่พวกลูกหลานอิสรออีลว่า “ผู้ใดฆ่าชีวิตใด เว้นเสียแต่ว่าคนผู้นั้นเป็นฆาตกรหรือเป็นผู้ก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน คนผู้นั้นจะถูกถือเหมือนกับว่าเขาได้ฆ่ามนุษยชาติทั้งมวล..” (กุรอาน 5:32)
2) ไม่เป็นที่อนุมัติให้คนไข้ฆ่าตัวเองและเป็นการผิดกฎหมายที่ใครอื่นจะไปฆ่าคนไข้ถึงแม้ว่าคนไข้จะยอมให้เขาฆ่าก็ตาม เพราะกรณีแรกคือการฆ่าตัวตาย ส่วนกรณีหลังเป็นการรุกรานต่อผู้อื่นโดยการฆ่าเขาเพราะการอนุญาตของคนไข้ไม่ได้ทำให้สิ่งต้องห้ามเป็นที่อนุญาต คนไข้ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตของตัวเองที่จะไปให้ใครคนอื่นปลิดชีวิต คำสอนของท่านนบีเกี่ยวกับเรื่องการห้ามฆ่าตัวตายก็เป็นที่รู้กันอยู่ นั่นคือ ใครก็ตามที่ฆ่าตัวตายจะถูกทรมานในไฟนรกในลักษณะเดียวกับที่เขาหรือเธอฆ่าตัวเอง ถ้าหากเขาเชื่อว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งถูกต้องกฎหมาย เขาก็กลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาและจะได้อยู่ในไฟนรกตลอดกาลหรือไม่ก็ถูกลงโทษอย่างรุนแรง
3) ไม่อนุญาตให้ฆ่าคนไข้เพราะกลัวว่าโรคร้ายของคนไข้อาจจะแพร่ออกไปโดยการติดเชื้อถึงแม้ว่าเขาจะป่วยในขั้นสุดท้ายแล้วก็ตาม (เช่นกรณีของผู้เป็นโรคเอดส์) ไม่อนุญาตให้ฆ่าเขาเพื่อป้องกันการแพร่ของโรค เพราะมีวิธีการหลายอย่างที่สามารถป้องกันการแพร่ของโรคได้ เช่น การกักผู้ป่วยเป็นต้น ในทางตรงข้าม ผู้ป่วยจะต้องได้รับการคุ้มครองในฐานะมนุษย์และจะต้องได้รับอาหารและยาที่จำเป็นจนกว่าชีวิตของเขาหรือเธอจะสิ้นสุดไปตามธรรมชาติ
มีรายงานว่าท่านนบีมุฮัมมัดได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺไม่ทรงสร้างโรคใดโดยไม่มียารักษา” (รายงานโดยอัลบุคอรีและมุสลิม)
ในอีกฮะดีษหนึ่งซึ่งรายงานโดยอัต-ติรฺมีซี กล่าวว่า :
“โอ้บ่าวของอัลลอฮฺ จงแสวงหาการเยียวยารักษา เพราะอัลลอฮฺไม่ได้ทรงสร้างโรคใดที่ไม่มียารักษา” ในฮะดีษที่รายงานโดยอะหมัดก็มีการอ้างถึงคำพูดของท่านนบีมุฮัมมัดอีกเช่นกันว่า “อัลลอฮฺไม่ทรงสร้างโรคใดโดยไม่มียารักษามัน บางคนอาจรู้และบางคนอาจไม่รู้” ดังนั้น ฮะดีษเหล่านี้จึงทำให้เรามีความหวังในการที่จะค้นพบโรคที่ปัจจุบันเราเรียกว่า “โรคที่ไม่สามารถรักษาได้”
ความจริงแล้ว เราได้เห็นการค้นพบวิธีการเยียวยารักษาโรคที่ครั้งหนึ่งเคยถูกผู้คนถือว่าเป็นโรคที่ไม่อาจรักษาได้มาแล้ว ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้ฆ่าผู้เป็นพาหะนำโรคเพียงเพราะมันเป็นโรคที่ไม่อาจรักษาได้และไม่อนุญาตให้ฆ่าคนไข้โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการคุ้มครองสุขภาพของผู้คน
4) สำหรับเรื่องการเอื้ออำนวยให้แก่การตายโดยการถอนเครื่องช่วยชีวิตจากคนไข้ที่ทางแพทย์ถือว่า “ตาย” หรือ “ตายในทางพฤตินัย” เพราะสมองที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตรู้สึกหรือรู้สึกได้ตายหรือเสียหายไปแล้วนั้น ถ้าหากการกระทำของแพทย์เป็นเพียงการหยุดใช้เครื่องมือรักษา มันก็ไม่ต่างอะไรไปจากการเลิกรักษาซึ่งในกรณีนี้ การกระทำของแพทย์ถือเป็นที่ถูกต้องและได้รับอนุญาต โดยคำนึงอยู่เสมอว่าเครื่องมือเหล่านี้สามารถรักษาชีวิตของคนไข้ที่เห็นได้จากการหายใจและการหมุนเวียนของโลหิต ถึงแม้ว่าคนไข้จะตายไปแล้วจริง เพราะเขาไม่สามารถรับรู้ รู้สึกหรืออ่อนไหวต่อสิ่งใดเพราะแหล่งที่มาของการรับรู้ นั่นคือสมอง ได้เสียหายไปแล้ว การรักษาคนไข้ในสภาพเช่นนั้นต่อไปมีแต่จะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและจะทำให้คนไข้อื่นๆที่สามารถรักษาได้ต้องพลอยเสียโอกาสในการใช้เครื่องที่ถูกนำมาใช้เพื่อคนไข้ที่ตายไปโดยพฤตินัยแล้ว
ตอบโดย
อาจารย์ บรรจง บินกาซัน